สนทนาธรรม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2009

บันทึกจากการสนทนาธรรม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2009

แม่ โย : การปฏิบัติ  การน้อม ต้องให้คนอื่นเป็นกระจกส่องเห็นเงาของเราไปที่เขา  คือการกระทำอะไรของเขาก็ตาม  จะน้อมกลับเข้ามาว่า เราเคยทำแบบนั้นไหม  เขาทำไม่ดี เป็นกิริยาที่ไม่สมควร  พูดไม่ดี ทำไม่ดี  เราจะมารื้อหาว่าเราเคยทำแบบนั้น ถึงจะไม่เหมือนเลยทีเดียว ก็ดูว่าคล้ายๆ กันอย่างนั้นมีรึเปล่า   หาเหตุการณ์จริง ที่ไหน เมื่อไร   นี่คือเขาเป็นกระจกเงาให้เรา

ยกตัวอย่าง เช่น เห็นคนใส่กระโปรงสั้น เสื้อแขนกุด  แต่งตัวไม่เหมาะสมกับสถานที่  แล้าเราก็ไปว่าเขา ตำหนิเขา   เราน้อมกลับมา  เราก็เคยทำตอนที่เราไป LA ทำไมถึงทำ  สมควรไหม  ตอนนั้นที่ทำ เราไม่รู้ตัวเลย  มันไม่สมควรเลยสักนิด  แต่ตอนนั้นเราไม่เคยเห็นตนเองเลย  ไม่รู้ว่ามันน่าเกลียด  แต่ตอนนี้ เราเอาเหตุการณ์เก่ามารื้อดู  เราเคยทำหน้าเกลียดแบบนั้น เราสอนใจตนเองว่า จะไม่ทำอย่างนี้อีก

นี่คือ เอาคนอื่นมาเป็นกระจก

ส่วนอีกขั้น เราจะเป็นกระจกให้กับตนเอง  เราเป็นกระจก พอมีสิ่งใดมากระทบกระจก กระจกจะสะท้อนสิ่งนั้นออกมา  เช่น  คนมายืนส่อง   เราจะเห็นเงา  แต่เราไม่เห็นตัวคนส่อง   สมมติว่าสัตว์หรือหมียืนอยู่ข้างหน้า  มันทำอะไรอยู่ เราก็จะเห็น  เห็นเงาของสิ่งต่างๆ ที่โชว์อยู่   คือเราไม่เห็นตัวคน  เราจะเห็นแต่เงา   แล้วเอาเงานั้นมาเป็นเรา

ยก ตัวอย่าง เช่น ได้ยินเสียงตด เราจะไม่หาว่าเสียงตดของใคร   (เสียงตดนั้นมีลักษณะเหมือนกับอั้นแทบตาย กดทับเอาไว้)  ใครตดเราไม่สนใจ  น้อมมาเป็นเราเลย เพราะเงามาฉายอยู่ในกระจกของเรา   พิจารณาว่า อั้นเกือบตายยังออกไปได้  นี่แหละคนเราไม่สามารถห้ามหรือบังคับร่างกายนี้ได้เลย   ถ้าบังคับได้เราจะทำแต่สวยแต่งาม   เราจะเพ่งโทษใครไม่ได้ เพราะเราเป็นกระจก  เราจะไม่เห็นคนที่ทำให้เกิดเงา    แต่เราเห็นเงา  เงาคืออาการที่ทำให้เป็น   เราพูดเรื่องของเรา  เห็นเราเป็นเอง จึงต่อว่าไม่เป็น  และที่สำคัญ   เราดูเงา  ไม่ได้ดูเจ้าตัว   ถ้าเราดูเจ้าตัวก็จะด่าว่า คนนี้นิสัยไม่ดี  เคยทำแบบนี้มาตั้งหลายครั้ง  ชอบตดต่อหน้าคน  อย่าว่าแต่ตดเลย  อย่างอื่นก็ไม่มีมารยาท  เลอะเทอะไปหมด  ทำให้เราไม่สามารถยอมเรื่องนี้ได้   แต่นี่เราดูแค่เงาที่ฉายเข้ามา  รับแต่อาการมา แล้วก็น้อมว่าเป็นของเรา

การหาเงา ก็หาได้จากในละคร  ไม่ต้องดูเยอะ  พอเห็นปั๊บต้องเอามาจัดการตามขั้นตอนดังนี้

ข้อ 1 ดูใจสังเกตความรู้สึก  เอ๊ะ รู้สึกสะดุ้งสะเทือน ไม่ยุติธรรม ไม่ชอบ หรือชอบมาก  สังเกตได้ว่ามันเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง     พอรู้สึกแล้วก็หาเหตุ  เรื่องของเราคนเดียว ไม่เกี่ยวกับคู่กรณี ทำไมเราถึงสะกิดใจ  ความเข้าใจอะไรของเราปักเที่ยงตรงไหน  ไม่ยอมตรงไหน

ยก ตัวอย่าง  ญาติธรรมคนหนึ่งไปคุยให้พระฟังว่า จะมาปฏิบัติธรรมที่เขา KPY …. พระตอบกลับไปว่า ปฏิบัติธรรมเอาหน้า  ….  เกิดความรู้สึกว่า มาว่าฉันทำไม   เมื่อจับความรู้สึกได้  หาเหตุทางธรรม  เราเข้าใจอะไรผิดหรือ  ทำไมเรารู้สึกไม่ดีเลย   ต้องหาเหตุ  เหตุอยู่ที่เราคนเดียว    เราเข้าใจอะไรผิด  แสดงว่า เขาว่าเราไม่ได้หรือ  จะให้เขาบอกว่า ไปภูเขามันมีดีอย่างเดียวหรือ  แล้วชอบฟังว่า เธอเก่งจัง อย่างนั้นหรือ   ให้เขาว่าไม่ได้  ไหนบอกว่าโลกมีสองด้านไง ทั้งติและชม  ก็นี่เขาติไงมันผิดด้วยหรือ  เราเห็นอะไรผิด  เราคิดว่าจะให้เขาชมอย่างเดียว  เห็นดีด้วยกับการกระทำครั้งนี้  เราเห็นผิดรึเปล่า  ปักเที่ยงว่า เขาต้องชมอย่างเดียว   ถ้าใช่แล้ว ใจจะค่อยๆ คลาย  นี่คือเรากับความเห็นของเรา  เอาไตรลักษณ์เข้าใส่ตรงความเห็นของเรา

หากเราคิดว่า เขาเป็นพระ เขาไม่ควรพูดอย่างนี้ อันนี้เป็นทางโลก  แต่ทางธรรม ความเห็นผิดที่เราปักเที่ยงว่า  พระว่าคนไม่ได้  คนที่พูดกับเราต้องพูดดีอย่างเดียว  ความจริงคือ ทั้งพระ ทั้งคนธรรมดา มีทั้งพูดดีและพูดไม่ดี

 

ข้อ 2 เอาเนื้อเรื่องนั้นมาพิจารณา ยอมรับว่าเป็นจริงๆ  เพื่อเอาประโยชน์จากขี้ที่เขาโยนมาให้เรา   การปฏิบัติธรรมเอาหน้าเป็นยังไง   เราเคยไหม การทำอะไรเอาหน้าเป็นยังไง  คือการทำเพื่อให้เขาชม   ไม่ได้ทำเพื่อให้ตนเองได้ดีเท่านั้น  แต่ต้องให้คนอื่นรู้ด้วย   การทำที่ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของคนอื่น คำชมจากคนอื่นให้ทุกข์โทษภัยอย่างไรบ้าง  การปฏิบัติธรรมจริงๆ คือเพื่อให้หลุดพ้น เพื่อให้เข้าใจ ไม่ทุกข์อีกต่อไป  แต่เราปฏิบัติให้คนชม มันก็ไม่ถูกนะสิ    เรานำมาพิจารณาจนกระจ่างว่า  เขาว่าหรือไม่ว่า เราก็ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อนเลย  เก็บมาคิดเลยว่า  ปฏิบัติทำไม  ปฏิบัติเอาหน้าเป็นยังไง  การทำทั่วๆ ไป ที่ไม่ใช่ปฏิบัติธรรม แต่เราเอาหน้า เราเคยไหม

ยกตัวอย่าง เช่น หุงข้าวให้ใคร ก็ต้องบอกว่า นี่ฉันหุงนะ  ซักผ้าให้ก็ต้องบอกว่านี่ฉันทำนะ   การทำแบบนี้มันมีเงื่อนไข  ถ้าเขาไม่ชมขึ้นมาจะเป็นโทษไหม จะโกรธไหม    การกระทำที่ถูกคือ ทำล้วนๆ  ทำเพื่อทำ  ไม่ใช่ทำเพื่อให้เขายอมรับ   เพราะถ้าเขาไม่เห็นว่าเราทำถูกทำดี เราจะเสียใจ  ถ้าเขาชมว่าดี เราก็จะหลงตัวทำแล้วทำอีก  เหมือนหุ่นไม้อยู่บนเชือกชัก  มันดีหรือไม่ดี    ถ้าเขาไม่ชมก็เป็นทุกข์  ถ้าเขาชมก็เป็นสุข แล้วก็จะยึดทำต่อไปอีก  ยิ่งชอบยิ่งทำ ยิ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ มันก็จะต้องมีที่เขาไม่ชม  เพราะความจริงมีสองด้าน ชมและติ   การที่เขาติว่า มาปฏิบัติธรรมเอาหน้า  การทำอย่างอื่นเอาหน้าสามารถพิจารณาสอนใจในวงกว้างขึ้น

 

ข้อ 3 พิจารณาทุกข์โทษภัยของทั้งสองกรณี  ทั้งผู้พูดเอาหน้า และคนด่าผู้อื่น  ให้ครบวงจร   แจกแจงให้ใจรู้  ว่ามันเป็นโทษภัยยังไง  มันไม่ดียังไง  เราควรจะละมันยังไง  วิธีไหนดีที่สุด  สอนใจคลายยึด การยึดอาการนั้นๆ จะไม่เป็นอีก

 

การทำที่ถูก ไม่เอาหน้า ทำเพื่อจะทำ  เราจะรู้ขอบเขต เมื่อทำไม่ได้ เราก็จะกล้าปฏิเสธ  แต่ถ้าทำเอาหน้า  มันจะเกินขอบเขต  ทำไม่ได้ก็ยังทำ  เวลาไม่มีก็ยังทำ  มันจะโกรธว่า เขาไม่รู้ภาษาบ้าง ไม่มีตาม้าตาเรือ ฉันไม่ว่างก็ยังมาขอ   ฉันเกรงใจก็เลยต้องจำใจไปส่ง เพราะอยากได้หน้า   เมื่อพิจารณาอย่างนี้ได้  มันจะพอดี  ทำไม่เอาหน้าจะดีกว่าไหม  ต่อไปนี้การกระทำคำพูดทุกครั้งจะมีขอบเขต  ไม่หวังผลตอบแทน  ทำตามเวลา หน้าที่ โอกาสที่ทำได้  ไม่ใช่เบียดเบียนตนเอง  ทำไม่ได้ก็ยังไปรับอาสาทำ    เกรงใจต้องทำรึเปล่า

ยกตัวอย่าง  แม่ยังไม่ได้ทานยา นอนเจ็บอยู่  ตอนนี้ได้เวลาปานะของคุณพระแล้ว แต่ไม่มีใครอยู่  แม่ต้องรีบลุกขึ้นมา  นี่เรียกว่าเบียดเบียนตนเอง  แม่ต้องรู้เหตุผลของแม่ดีว่า ที่แม่ทำเพราะอะไร   ใครทำอะไรก็ต้องหาเหตุผลของตนเอง  แม่ทำเพราะหวังบารมี  อยากให้พระที่มาบวชสัปปายะทุกอย่าง  ไม่ใช่เพื่อคุณพระนะ  ทำเพื่อตนเองจะได้สร้างบารมีสุดขีด  เพราะใครก็ตามที่ช่วยให้พระมาบวชอยู่ได้  เห็นธรรมได้ ถือว่าสร้างบารมีสูงสุด   เหมือนเราช่วยคนลงเรือ ได้บารมีตรงนั้น  ทุกคนแย่งกันทำ  ทำเพื่อหวังผล   แต่เรากำลังถามว่า เบียดเบียนตนเองรึเปล่า  ถ้าทำตอนนี้เป็นการเบียดเบียนตนเอง ก็รอได้  ไม่ได้บุญวันนี้ เอาบุญวันหน้าก็ได้    หรือถ้าเราคิดว่า ถ้าเราไม่ทำ ไม่มีใครทำ ท่านจะเป็นอย่างนู้นอย่างนี้  ก็ไม่เป็นไรวันเดียวไม่ตายหรอก   คือเราจะยอม  ถ้าเราทำเพื่อหวังเอาจริงๆ มันจะไม่ยอม  มันจะลากสังขารขึ้นมาทำร้ายตนเอง  นี่เพียงยกตัวอย่างไม่ใช่ความจริง

หัวเรื่องว่า ปฏิบัติธรรมเอาหน้า  เราสามารถแจกแจงไปยังทุกเรื่องที่เอาหน้า  เพื่อให้เขาชม  มันกว้างนะ

 

พ.เนะ  : จุดนี้คนปฏิบัติแล้วจะง่าย  แต่คนเพิ่งเริ่มปฏิบัติจะยากมาก  การหาหลักฐานจริงๆ เพื่อว่าตนเอง  เรามีแต่หลักฐานสนับสนุนว่า ฉันเก่ง หล่อ เท่   แต่หลักฐานว่า ฉันทำเพื่อเอาหน้า  ใจมันจะไม่ยอมเอามาให้ง่ายๆ  อย่าไปเสียใจว่าคิดไม่ออก  ได้เรื่องเดียวก็เอาเรื่องเดียวนี่แหละ

 

แม่โย : หากปฏิบัติไปจนชำนาญจะเห็นว่า การว่าตนเองเป็นเรื่องสนุก  ถ้าขุดเจอมีเฮกันตึงๆ

 

แม่ หน่อย : ต้องหาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นเพราะเรา  ตอนแรกมันจะชี้ออกข้างนอก  ต้องหมั่นชี้เข้าบ่อยๆ  จนรู้สึกความละอายว่าทุกอย่างเป็นเพราะเราจริงๆ

 

แม่ โย  :  เรื่องอะไรก็ตามให้รู้ไว้เถอะว่าเป็นเพราะเราทั้งนั้น   เราอย่างเดียวไม่เกี่ยวกับคนอื่น  หากเรายอมรับได้จะง่าย   มีฉันกับฉันเท่านั้น   เราปักเที่ยงปักตรงนั้นตรงนี้

 

พ.เนะ : วันก่อนเราคุยกันว่า ทำไมถึงเราปัก  เพราะเราไม่มีข้อมูลพอ  เราปักเราเดาไปตามข้อมูลที่เรามี   สิ่งที่เราเดาไปนั้นมีทั้งถูกทั้งผิด  แต่สิ่งที่เราเดานั้น เราไม่เคยมีข้อมูลครบสักเรื่องเดียว  เราไม่มีทางรู้ข้อมูลทุกอย่าง แต่เราก็เลือกที่จะสรุป เลือกที่จะทำให้ตนเองเสียใจ ตนเองโกรธได้

 

แมโย : เหมือนเรื่องกุหลาบดำ ชงโคไปหาน้องของปัทมา  พอออกมาแล้วจะกลับไปเอากุญแจ ปรากฏว่าเห็นน้องของปัทมาถูกฆ่า  จึงไปบอกปัทมาว่า น้องตายแล้ว … ทำไมถึงตาย …  พวกมันคงตามฉันไป แล้วเขาคงไม่ยอมบอกว่า ฉันอยู่ที่ไหน  เขาจึงถูกฆ่า …. ชงโคและปัทมาจึงเชื่ออย่างนั้นจนจบเรื่อง ไม่ได้แก้  ในโลกนี้ก็เป็นอย่างนี้แหละ   ไอ้พวกฆาตกรไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ชงโคออกจากห้องขังแล้ว  แต่เราเป็นคนดูเราจึงรู้   นี่เป็นการพิสูจน์ว่า โลกเราอยู่กันแบบนี้  แบบเข้าใจผิดๆ ถูกๆ

 

พ.เนะ :             แต่ก่อนเราภูมิใจมาก ว่าเราเดาถูก  อ่านท่าทางคนได้  ดูกิริยาการกระทำ ดูผล มันมาจากไหน  เขาเป็นคนยังไง   คนนี้กำลังอิจฉา  คนนี้กำลังน้อยใจ  แต่เมื่อเรามาเจอนักปฏิบัติจริงๆ เราจึงรู้ว่า เราเดาใจเขาไม่ได้  แม้กระทั่ง คนที่ไม่ปฏิบัติเราก็เดาใจเขาไม่ได้เช่นกัน   แค่เกมดูหน้า  ลองให้ผู้แสดงสีหน้าอาการดีใจสิ  แต่คนกลับเดาไม่ถูก  เดาไปว่าหลงทาง  อยากไปห้องน้ำ  ความจริงคือเขาแสดงสีหน้าดีใจอยู่ แต่ไม่มีใครอ่านได้ถูก

 

แม่หน่อย  :  แล้วเรายังบอกไปอีกว่า แสดงไม่เหมือนเลย  ไปว่า ไปเพ่งโทษเขาอีกว่าทำไม่เป็น

พ.เนะ : จิตเราออกนอกบ่อยมาก

แม่โย : ไม่ใช่ออกนอกบ่อยมาก  แต่จิตไม่เคยชี้เข้าอยู่กับตัวเลยต่างหาก

 

กลุ่มล้อมวงยกประเด็นเรื่อง ความลำเอียง

แม่ โย : เราลำเอียง เราเคยชิน เราใช้แต่ข้างขวา  ไม่เคยใช้ข้างซ้าย   นักปฏิบัติเมื่อได้ยินใครพูดอะไรมา  เขาจะบอกให้เราทำหรือไม่ก็ช่าง  เราจะทดลองทำ  วันนี้แม่ลองทำสิ่งต่างๆ ด้วยมือข้างซ้าย ถูสบู่ด้วยมือซ้าย  เช็ดผ้าด้วยมือซ้าย  ทำสิ่งต่างๆ ด้วยมือซ้าย  เมื่อฟังแล้วก็ทดลองทำทันที  มันก็โอเค  แต่มันไม่ชิน  เพราะเราไม่เคยให้เขาทำ   แสดงว่า เราลำเอียง เราทำแต่ที่เราชอบเท่านั้น

 

แม่หน่อย  : หลวงพ่อบอกว่า เราเป็นนักโทษที่ถูกขัง  เราขังตัวเราเองนั่นแหละ  เป็นความคิดของเราทั้งหมดที่เราขังตัวเอง

No Comments

Leave a Reply

Your email is never shared.Required fields are marked *